นโยบายการกำกับดูแลกิจการ

การต่อต้านทุจริตและคอร์รัปชัน

บริษัทมีนโยบายการต่อต้านการทุจริตและห้ามจ่ายสินบน โดยกำหนดหลักการในจรรยาบรรณทางธุรกิจห้ามมิให้พนักงานเรียกการรับประโยชน์หรือหลีกเลี่ยงการรับทรัพย์สินใดๆที่จูงใจให้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติในทางที่มิชอบ หรืออาจทำให้บริษัทเสียประโยชน์อันชอบธรรม ไม่ดำเนินการใดๆ อันเป็นลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ต่อองค์กร ไม่นำทรัพย์สินขององค์กรไปหาประโยชน์ทางการค้าให้ตนเองหรือพวกพ้อง หรือละเว้นการกระทำใดๆที่ผิดกฎหมายหรือโดยมิชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ของตน ซึ่งบริษัทได้เผยแพร่จรรยาบรรณทางธุรกิจให้พนักงานได้ทราบอย่างทั่วถึงและตระหนักการปฏิบัติตามหน้าที่อย่างสม่ำเสมอ

แนวปฏิบัติในการกำกับดูแลและควบคุมความเสี่ยงจากการทุจริตคอร์รัปชัน และการติดตามประเมินผลการปฏิบัติ มีดังนี้

  1. มาตรการป้องกัน ผ่านการจัดผังองค์กรให้เหมาะสมกับการบริหาร และควบคุมโครงสร้างบริษัทเสริมสร้างให้องค์กรมีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับเป้าหมาย ลักษณะการดำเนินธุรกิจ ใช้หลักการแบ่งแยกหน้าที่ มีการถ่วงดุลการใช้อำนาจและการแบ่งแยกหน้าที่ที่เหมาะสม จัดให้มีกระบวนการทำงานและสายการบังคับบัญชาที่ชัดเจนในแต่ละหน่วยงาน การจัดโครงสร้างองค์กรที่วัฒนธรรมองค์กรที่เน้นด้านคุณธรรมจริยธรรม โดยมีกลไกการตรวจสอบติดตามประเมินผลการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ รวมถึง มีการสื่อสารและฝึกอบรมพนักงานอย่างเพียงพอเหมาะสม โดยจัดให้มีการสื่อสารแนวทางปฏิบัติเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น อินทราเน็ตของบริษัท และบนเว็บไซต์ของบริษัท

  2. จัดทำจรรยาบรรณผู้บริหารและพนักงาน ที่เป็นลายลักษณ์อักษร ส่งเสริมการปฏิบัติตามจรรยาบรรณ จัดให้มีการสื่อสารอย่างทั่วถึงผ่านช่องทางต่างๆ ทั้ง อินทราเน็ต และ เว็บไซต์ของบริษัท รวมถึง วางแผนการติดตามและประเมินการปฏิบัติตามจรรยาบรรณอย่างเหมาะสม

  3. กระบวนการในการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตภายในบริษัท และประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบาย ผ่านทางการประเมินการควบคุมภายในตามแบบ COSO ในระดับคณะกรรมการ การประเมินการควบคุมภายในระดับหน่วยงาน และกลไกการทำงานของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและการพัฒนาอย่างยั่งยืนและหน่วยงานควบคุมภายในของบริษัท

  4. การกำกับดูแลระดับหน่วยงาน หัวหน้าฝ่ายกำกับดูแลฝ่ายของตน โดยการประเมินการควบคุมภายใน ความเสี่ยงจากการทุจริตคอร์รัปชัน ระดับหน่วยงาน และจัดให้มีระบบการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพื่ออุดช่องโหว่ที่อาจเป็นเหตุให้เกิดการกระทำทุจริตขึ้น ทบทวนความเหมาะสมของระบบและพัฒนาระบบให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควบคุมตรวจสอบติดตามการปฏิบัติงานของหน่วยงานของตน และมอบหมายให้หัวหน้างานในแต่ละระดับ ควบคุม ตรวจสอบการกระทำทุจริตและข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน

  5. หน่วยงานตรวจสอบภายในดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติตามระเบียบขั้นตอนของระบบงาน การปฏิบัติตามจรรยาบรรณที่กำหนด ประเมินความเสี่ยงจากการทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึง สัญญาณเตือนภัยต่างๆ ประเมินความเพียงพอของระบบการควบคุมภายใน ในการป้องกัน ติดตาม และตรวจพบ ความเสี่ยงจากการทุจริตคอร์รัปชัน โดยรายงานผลการตรวจสอบอย่างน้อยไตรมาสละ 1 ครั้ง

  6. ผ่านกลไกการทำงานของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในการทดสอบและประเมินความเสี่ยงจากการทุจริตและคอร์รัปชันอย่างต่อเนื่อง และนำเสนอผลการประเมินรายงานต่อคณะกรรมการบริษัท

  7. จัดให้มีช่องทางในการรายงานหากมีการพบเห็นการฝ่าฝืนหรือพบเห็นการกระทำทุจริตและคอร์รัปชัน และจัดให้มีมาตรการคุ้มครองและบรรเทาความเสียหายให้กับผู้รายงาน ผู้ร้องเรียน หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการรายงานดังกล่าว รายละเอียดได้แสดงอยู่ภายใต้หัวข้อ “การแจ้งเบาะแส (Whistleblowing)”

  8. กรณีพบเหตุการณ์กระทำผิด ข้อมูลจากการตรวจสอบ เรื่องร้องเรียน และมีหลักฐานอันควรให้เชื่อว่ามีรายการหรือการกระทำผิดจริง การสอบสวนการกระทำทุจริตและคอร์รัปชัน จะจัดตั้งคณะบุคคลสอบสวนพิเศษชั่วคราวขึ้น เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา และให้ความคุ้มครองอย่างเหมาะสมแก่ผู้ให้เบาะแส

  9. นำกรณีที่พบเหตุการณ์กระทำผิดมาใช้เป็นกรณีศึกษา เพื่อหาแนวทางเชิงป้องกัน และวิธีตรวจสอบให้พบเหตุแห่งการกระทำดังกล่าว รวมถึง ให้ความรู้พนักงานระดับหัวหน้างานเพื่อป้องกันการทุจริตที่เกิดขึ้นในองค์กร

พนักงานใหม่จะได้รับการแจ้งแนวทางปฏิบัติสำหรับมาตรฐานความประพฤติที่ดีและจรรยาบรรณของพนักงานในวันแรกที่เริ่มทำงานและโดยผ่านการ Orientation พนักงานใหม่ และบริษัทได้จัดการฝึกอบรมภายในบริษัทให้แก่ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายปฏิบัติการ ผู้บริหารสายสนับสนุน ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส และ ผู้จัดการฝ่าย เกี่ยวกับเครื่องมือและวิธีการใช้เครื่องมือในการติดตามความเสี่ยง เพื่อให้ผู้บริหารรวมทั้งฝ่ายจัดการสามารถนำไปใช้ในการติดตามและประเมินความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ในปี 2565 คณะกรรมการบริษัทได้แต่งตั้งหัวหน้าโครงการ (Project Leader) และคณะทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งประกอบด้วย กรรมการบริษัท และหัวหน้างานแต่ละฝ่ายทั่วทั้งองค์กร เพื่อให้การดำเนินการเข้าร่วมเป็นแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทยของบริษัทเป็นไปอย่างเรียบร้อย รวมถึงให้เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลและติดตามการนำมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันต่างๆ ไปถือปฏิบัติ และในปี 2565 บริษัทไม่มีข้อพิพาททางกฎหมายที่เกี่ยวกับคดีทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งที่อยู่ระหว่างถูกตรวจสอบ ดำเนินคดี หรือพิพากษาของศาล