ข้อมูลแถลงข่าวผลการดำเนินงานของบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)

ย้อนกลับ12 มกราคม 2566


บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ตั้งเป้าหมายแผนการดำเนินงาน ในปี 2566 โดยตั้งเป้าหมายยอดขาย (Booking) 35,000 ล้านบาท และเป้าหมายรับรู้รายได้จากยอดโอนกรรมสิทธิ์ 33,000 ล้านบาท ส่วนรายได้จากอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 7,150 ล้านบาท

นายวัชริน กสิณฤกษ์ กรรมการผู้จัดการสายงานปฏิบัติการ โครงการบ้านจัดสรร ได้เปิดเผยภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ และการดำเนินงานโดยสรุปของบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) สำหรับปี 2565 รวมทั้งแผนงานของปี 2566 ดังนี้

จำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยจดทะเบียน (สร้างโดยผู้ประกอบการ) ในกทม.และปริมณฑล

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC)

จำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในกทม.และปริมณฑล

ที่มา: บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด (AREA)

ในปี 2565 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเภทบ้านเดี่ยว ซึ่งเป็นสินค้าหลักของบริษัทฯยังคงมีความแข็งแรงต่อเนื่อง หากพิจารณาตัวเลขจำนวนหน่วยบ้านเดี่ยวและบ้านแฝดที่สร้างโดยผู้ประกอบการ และจดทะเบียนในกทม.และปริมณฑล ในช่วงเดือน ม.ค. - ต.ค. 2565 จะเห็นว่าเติบโตประมาณ 10% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564

ในขณะที่ จำนวนหน่วยที่เปิดขายใหม่ของสินค้าประเภทบ้านเดี่ยวและบ้านแฝดในช่วงเดือน ม.ค. - พ.ย. 2565 มีจำนวน 22,855 หน่วย ซึ่งเติบโตเกือบเท่าตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2564 เนื่องจากฐานที่ต่ำ

ในปี 2565 บริษัทฯเปิดโครงการใหม่ 15 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 32,460 ล้านบาท โดยเป็นสินค้าแนวราบทั้งหมด เทียบกับแผนเดิมที่ตั้งไว้ 15 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 29,520 ล้านบาท

ปี 2565 บริษัทฯ ได้ใช้เงินลงทุนซื้อที่ดินเพื่อการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อขาย ประมาณ 4,400 ล้านบาท

สัดส่วนยอดขายแบ่งตามประเภทสินค้า ในปี 2565 ของบริษัทฯ มีดังนี้

ในปี 2565 สินค้าประเภทบ้านแนวราบ ซึ่งได้แก่ บ้านเดี่ยว บ้านแฝดและทาวน์เฮ้าส์ ยังคงเป็นสินค้าหลักที่สร้างยอดขายให้กับบริษัทฯ โดยสัดส่วนการขายของบ้านแนวราบและคอนโดมิเนียม คือ 92%:8%

เมื่อจำแนกตามพื้นที่ กรุงเทพและปริมณฑลยังคงเป็นพื้นที่หลักในการก่อให้เกิดยอดขาย โดยสัดส่วนยอดขายของโครงการในกรุงเทพและปริมณฑลเปรียบเทียบกับยอดขายของโครงการในต่างจังหวัด คือ 90%:10%

สัดส่วนระดับราคาของบ้านที่สูงกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป มีสัดส่วนประมาณ 54% ของยอดขาย

จำนวนโครงการที่ดำเนินการระหว่างปี 2565 – 2566

ณ ต้นปี 2565 บริษัทฯ มีจำนวนโครงการที่เปิดดำเนินการทั้งสิ้น 74 โครงการ เป็นโครงการในกรุงเทพและปริมณฑล 44 โครงการ ต่างจังหวัด 30 โครงการ

โครงการที่เปิดใหม่ 15 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 32,460 ล้านบาท

รวมโครงการที่ดำเนินการในระหว่างปี 2565 มีจำนวนทั้งหมด 89 โครงการ มีโครงการปิดระหว่างปี 19 โครงการ

ดังนั้น ณ สิ้นปี 2565 มีโครงการที่ยกไปดำเนินการต่อในปี 2566 เป็นจำนวน 70 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 56,300 ล้านบาท

ณ ต้นปี 2566 บริษัทฯ มีจำนวนโครงการที่ดำเนินการทั้งสิ้น 70 โครงการ
- เป็นโครงการแนวราบ 62 โครงการ มูลค่า 47,983 ล้านบาท และคอนโดมิเนียม 8 โครงการ มูลค่า 8,375 ล้านบาท

บริษัทฯ มีแผน ที่จะเปิดโครงการใหม่ 17 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 34,960 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับการเปิดโครงการใหม่ในปี 2565
- เป็นโครงการในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล 13 โครงการ และต่างจังหวัด 4 โครงการ
- เป็นโครงการแนวราบ 16 โครงการ มูลค่า 28,460 ล้านบาท และคอนโดมิเนียม 1 โครงการ มูลค่า 6,500 ล้านบาท
- เมื่อแยกตามประเภทสินค้า จะประกอบด้วย (บางโครงการมีสินค้ามากกว่า 1 ประเภท)
โครงการบ้านเดี่ยว 15 โครงการ
โครงการบ้านแฝด 1 โครงการ
โครงการทาวน์เฮ้าส์ 1 โครงการ
โครงการคอนโดมิเนียม 1 โครงการ

ดังนั้น จำนวนโครงการที่ดำเนินการในปี 2566 มีทั้งหมดประมาณ 87 โครงการ เป็นมูลค่า 91,320 ล้านบาท โดยเป็นสินค้าแนวราบ 78 โครงการ มูลค่า 76,450 ล้านบาท และคอนโดมิเนียม 9 โครงการ มูลค่า 14,870 ล้านบาท

ประมาณราคาเฉลี่ยต่อหน่วยขายในปี 2566 เท่ากับ 8.8 ล้านบาท (ปี 2565 ราคาเฉลี่ยต่อหน่วย 8.8 ล้านบาท)

นายโชคชัย วลิตวรางค์กูร กรรมการผู้จัดการสายงานปฏิบัติการ โครงการอาคารชุด เปิดเผยภาพตลาดและข้อมูลสินค้าคอนโดมิเนียมของบริษัทฯ ดังนี้

ในช่วงปี 2562 – 2564 ตลาดคอนโดมิเนียมหดตัวลงอย่างต่อเนื่องทั้งในด้าน demand (จำนวนหน่วยที่ขายได้) และ supply (จำนวนหน่วยที่เปิดขายใหม่) อันเป็นผลมาจากมาตรการ LTV ที่บังคับใช้ในช่วงเมษายน 2562 ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม การชะลอการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมของผู้ประกอบการในช่วงเวลาดังกล่าวถือว่าเป็นผลดีต่อตลาดโดยรวม เนื่องจากเป็นการช่วยระบายสินค้าคงเหลือที่ค้างอยู่ในตลาด โดยจำนวนหน่วยคงเหลือของคอนโดมิเนียมลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี ในปี 2563 และลดลงต่อเนื่องในปี 2564

ในปี 2565 เมื่อสถานกาณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลายลง รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มฟื้นตัว ทิศทางของตลาดคอนโดมิเนียมก็ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยสะท้อนจากจำนวนหน่วยที่ขายได้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ที่เพิ่มขึ้นถึง 137% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2564 (ที่มา: AREA) และจำนวนหน่วยจดทะเบียนในช่วงเดือน ม.ค. - ต.ค. 2565 อยู่ที่ 32,909 หน่วย เติบโตประมาณ 16% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 (ที่มา: REIC)

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการก็มีความเชื่อมั่นในการเปิดโครงการใหม่ โดยจำนวนหน่วยที่เปิดขายใหม่ในช่วงเดือน ม.ค. - พ.ย. 2565 มีทั้งหมด 52,000 หน่วย เติบโต 128% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564

แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นจากปี 2564 แต่ตลาดคอนโดมิเนียมก็ยังมีความเปราะบาง และยังไม่กลับสู่สภาวะปกติอย่างแท้จริง บริษัทจึงยังคงระมัดระวังการเปิดโครงการประเภทคอนโดมิเนียม

ปี 2565 บริษัทฯ ไม่ได้เปิดโครงการคอนโดมิเนียมโครงการใหม่ เนื่องจากสภาพตลาดและบริษัทฯ ต้องการดำเนินการระบายสินค้าที่มีอยู่ในมือ อย่างไรก็ตาม ยอดขายคอนโดมิเนียมของบริษัทฯ ในปี 2565 เติบโตกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2564 เนื่องจากฐานที่ต่ำ ( ปี 2565 = 2,240 ล้านบาท)

สำหรับปี 2566 คาดว่าตลาดคอนโดมิเนียมจะฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2565 โดยจะเป็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนทั้งจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมสร้าง demand ในประเทศให้แข็งแกร่ง รวมถึง demand จากกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่น่าจะทยอยกลับมาตามการเปิดประเทศ และการเดินทางที่เริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ

ในปี 2566 บริษัทฯ มีแผนเปิดโครงการคอนโดมิเนียมโครงการใหม่จำนวน 1 โครงการ มูลค่า 6,500 ล้านบาท คือโครงการ The Key ศรีนครินทร์ ซึ่งจะเปิดขายในไตรมาสที่ 3 โดยเป็นการเริ่มเปิดโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ นับตั้งแต่ปี 2563

นายวิทย์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการสายงานสนับสนุน ได้เปิดเผยฐานะการเงินของบริษัทฯ และการดำเนินงานด้านอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า ดังนี้

ในปี 2565 บริษัทฯ ออกหุ้นกู้ มูลค่ารวม 13,700 ล้านบาท อายุ 2-3 ปี โดยมีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.61% ต่อปี

ณ สิ้นปี 2565 คาดว่าหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิ อยู่ที่ประมาณ 51,000 ล้านบาท โดยมี
- อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน 96%
- ต้นทุนทางการเงินเฉลี่ย 2.24%

สำหรับภาพรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าปี 2565 เป็นปีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง ประกอบกับการกลับมาของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ปัจจัยดังกล่าวส่งผลดีโดยตรงกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าของบริษัทฯ ทั้งในส่วนโรงแรม อะพาร์ตเมนต์ และห้างสรรพสินค้าทั้งในประเทศไทย และสหรัฐอเมริกา

ในปี 2565 บริษัทฯลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการให้เช่าผ่านบริษัท LHMH และ LH USA จำนวน 3,700 ล้านบาท ประกอบด้วย
- พัฒนาศูนย์การค้า Terminal 21 Rama 3 350 ล้านบาท
- พัฒนาธุรกิจโรงแรมและอะพาร์ตเมนต์ 3,350 ล้านบาท

ปี 2565 บริษัท LHMH ได้เปิดดำเนินโครงการใหม่ 2 โครงการ ได้แก่ โรงแรม Grande Centre Point Space Pattayaและศูนย์การค้า Terminal 21 Rama 3 ในไตรมาสที่ 3 และ4 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯยังไม่ได้ขายอะพาร์ตเมนต์ในสหรัฐอเมริกาตามแผนที่ตั้งไว้ เนื่องจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ FED ดำเนินนโยบายขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรง จึงส่งผลให้อัตราผลตอบแทนคาดหวังเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก และส่งผลกระทบต่อมายังราคาขาย

ในปี 2566 บริษัทฯ ได้เตรียมงบลงทุนไว้ทั้งหมดประมาณ 9,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
- งบสำหรับการซื้อที่ดินเพื่อการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย 6,000 ล้านบาท
- งบลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์เพื่อการให้เช่า 3,000 ล้านบาท

ปัจจุบัน บริษัท LHMH มีโครงการที่ดำเนินการแล้วและอยู่ระหว่างพัฒนาทั้งหมด 11 โครงการ ด้านบริษัท LH USA มีโครงการที่ดำเนินการอยู่ทั้งหมด 4 โครงการ

บริษัทฯ มีแผน ที่จะขายโรงแรมในประเทศไทยเข้ากอง REIT

บริษัทฯ มีแผน ที่จะออกหุ้นกู้อีกจำนวน 14,000 ล้านบาท และคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนจะยังคงอยู่ในระดับที่ไม่เกิน 100%

รายละเอียดโครงการเปิดใหม่ในปี 2566

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า

บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าในประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกา โดยธุรกิจในประเทศไทย ดำเนินงานภายใต้ชื่อบริษัท แอลเอชมอลล์แอนด์โฮเทล (LHMH) และธุรกิจในประเทศสหรัฐอเมริกา ดำเนินงานภายใต้ชื่อบริษัท แอลเอชยูเอสเอ (LHUSA) โดยประกอบด้วยโครงการห้างสรรพสินค้า โรงแรม อะพาร์ตเมนต์และพื้นที่สำนักงานให้เช่า รายละเอียดของโครงการทั้งหมดที่แสดงเป็นรายได้ค่าเช่าในงบกำไรขาดทุน ปรากฎดังตารางต่อไปนี้